อนิจจา! วิชาเศรษฐศาสตร์ จาก “ยอดนิยม” ถึง “เสื่อมนิยม”

อนิจจา! วิชาเศรษฐศาสตร์ จาก “ยอดนิยม” ถึง “เสื่อมนิยม”

 

เศรษฐศาสตร์

เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์หลายๆฉบับว่า เด็กรุ่นใหม่เลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์น้อยลง ส่งผลให้มหาวิทยาลัยบางแห่งโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนได้ทยอยกันปิดการเรียนการสอนหรือยุบคณะเศรษฐศาสตร์กันไปบ้างแล้ว

ผมในฐานะคนที่ร่ำเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มากับเขาด้วยคนหนึ่ง รวมทั้งเคยใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นเวลากว่า 30 ปี อ่านข่าวแล้วก็อดใจหายเสียมิได้

นึกไม่ถึงว่าวิชาที่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเคยฮิต เคยเป็นที่นิยมพอสมควรของเด็กหนุ่มเด็กสาวที่จะเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย จะกลายเป็นวิชาตกรุ่นถึงขั้นมีการทยอยยุบคณะในมหาวิทยาลัยบางแห่งในขณะนี้

แต่มาคิดอีกทีก็ทำใจได้ เมื่อนึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า ไม่มีอะไรยืนยงอย่างถาวร เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เป็นธรรมดาของโลก

ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เองก็พูดถึงการถดถอยลง หรือการเสื่อมลงของอรรถประโยชน์ในข้าวของ หรือสินค้าเครื่องใช้อุปโภคบริโภคต่างๆ ว่าเมื่อความพึงใจในการใช้ถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็จะค่อยๆถดถอยลง

วิชาเศรษฐศาสตร์ก็เปรียบเสมือนข้าวของเครื่องใช้ หรือเป็นสรรพสิ่งอย่างหนึ่งเหมือนกัน เมื่อถึงวันถึงเวลาก็อาจเข้าสู่ภาวะอรรถประโยชน์ถดถอย เสื่อมยศ เสื่อมลาภ เสื่อมจำนวนคนเรียน จนถึงขั้นปิดคณะได้ดังกล่าว